จัดฟัน

การจัดฟัน คือ การแก้ไขฟันและขากรรไกรที่อยู่ในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง เช่นฟันยื่น ฟันห่าง ฟันเหยิน ฟันสบคร่อม ฟันซ้อนเก เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลต่อความสวยงาม ยากต่อการทำความสะอาด และมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียฟันก่อนวัยอันควร จากฟันผุและโรคเหงือกได้

อายุเท่าไหร่ถึงจัดฟันได้

  •  หากคุณพ่อคุณแม่ สังเกตเห็นความผิดปกติ เช่น #ฟันซ้อนเก #ฟันยื่น #ฟันห่าง สามารถพาลูกมาพบคุณหมอจัดฟัน เพื่อขอคำปรึกษา และทราบวิธีการดูแล ป้องกัน หรือแก้ไขเบื้องต้นได้ทันที

  • ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี ฟันแท้ยังขึ้นไม่ครบ ในบางกรณีสามารถใส่เครื่องมือจัดฟันแบบถอดได้ เพื่อแก้ไขความผิดปกติบางส่วนได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของเด็กด้วย

  • ในเด็กที่อายุประมาณ 10-14 ปี เป็นช่วงอายุที่เหมาะสมที่สุดในการจัดฟัน เพราะเป็นวัยที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโต มีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างใบหน้ามากที่สุด ฟันสามารถเคลื่อนที่ได้ง่าย เป็นประโยชน์ต่อการจัดฟัน

  • การจัดฟันสามารถทำได้ ตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่ แต่อายุที่มากขึ้น อาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการจัดฟันที่นานกว่าปกติ

จัดฟันแบบไหนดี

การจัดฟันมีหลากหลายแบบ ในแต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียต่างกัน ไม่สามารถระบุได้ว่าวิธีใดดีกว่ากัน คนไข้และทันตแพทย์ต้องวางแผนการรักษาร่วมกัน ว่าการจัดฟันแบบใดที่สามารถแก้ไขลักษณะความผิดปกติที่มีอยู่ และตอบสนองความต้องการของคนไข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งทันตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาและอธิบายถึงข้อดีข้อเสียของการจัดฟันแต่ละแบบให้ทราบ

การจัดฟันมี 2 แบบใหญ่ๆคือ

  1. จัดฟัน แบบถอดได้ แบ่งออกเป็น

    • จัดฟันแบบพลาสติก ส่วนมากจะทำในเด็ก ช่วงชุดฟันผสม ซึ่งจะใช้ในกรณีเพื่อเคลื่อนฟันเพียงเล็กน้อย เคลื่อนฟันบางซี่ บางตำแหน่ง หรือใช้ช่วยในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของกระดูกขากรรไกรตามทิศทางที่ต้องการ

    • จัดฟันแบบใส ไร้เหล็ก หรือ อินวิสไลน์ (Invisalign) เป็นการจัดฟันที่เน้นไปที่ความสวยงามเป็นหลัก โดยการใช้เครื่องมือจัดฟันที่มีความใสในการช่วยปรับการเรียงตัวของฟัน โดยสามารถถอดออกได้ ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางการจัดฟันแบบใหม่ที่นิยมทำกันมาก ทำให้สามารถจัดฟันได้โดยไม่มีใครรู้ สามารถเคี้ยวอาหารได้ตามปกติ ง่ายต่อการดูแลรักษา เพราะสามารถถอดออกและแปรงฟันได้ตามปกติ ระยะเวลาการรักษา ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของสภาพฟันแต่ละบุคคล ต้องให้ทันตแพทย์เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมจัดฟันเป็นผู้พิจารณาว่าสามารถจัดฟันแบบ Invisalign ได้หรือไม่ อ่านเพิ่มเติมคลิก

  2. จัดฟัน แบบติดแน่น แบ่งออกเป็น

    • จัดฟันแบบโลหะ Metal Braces เป็นวิธีที่มีความนิยมมากที่สุด เนื่องจากเป็นวิธีที่ไม่ซับซ้อน ใช้โลหะที่เรียกว่า Bracket ติดกับผิวฟันด้านนอก ผ่านลวดที่ยึดติดกับ Bracket แล้วใส่ยางเพื่อยึดฟันแต่ละซี่ให้มีการเคลื่อนที่ไปตามทิศทางและตำแหน่งที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง อาการปวดหลังจากมีการเปลี่ยนยาง จะมีอาการมากน้อยแตกต่างกันไป ซึ่งในปัจจุบันได้มีการพัฒนาขนาดของวัสดุที่ใช้ให้มีขนาดเล็กลง มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ให้ความรู้สึกสะดวกสบายเพิ่มขึ้นมาก ระยะเวลาในการจัดฟันแล้วเสร็จโดยเฉลี่ยคือ ประมาณ 2 ปีขึ้นไป แล้วแต่ความยากง่ายในแต่ละเคส ต้องมาพบทันตแพทย์เพื่อเปลี่ยนยางทุกเดือน

    • จัดฟันแบบเซรามิก Ceramic Braces หลักการทำงาน การเคลื่อนฟันเหมือนกับการจัดฟันแบบโลหะทุกอย่างแตกต่างกันตรงที่ จะใช้ Bracket ที่เป็นเซรามิก สีใกล้เคียงธรรมชาติ และยางสีใสทดแทน ซึ่งจะให้ความสวยงามมากกว่า

    • จัดฟันแบบ Damon จะมีทั้งแบบ Damon Q และ Damon Clear เป็นการจัดฟันแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพทำให้ฟันมีการเคลื่อนสู่ตำแหน่งที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น คนไข้รู้สึกสบายมากขึ้น เจ็บน้อยลง ไม่ต้องเปลี่ยนยางทุก ๆ เดือน มาพบทันตแพทย์ทุกๆ 2-3 เดือน

เตรียมตัวอย่างไรก่อนจัดฟัน

  1.  พบทันตแพทย์จัดฟัน เพื่อตรวจเช็คสุขภาพช่องปาก ลักษณะการสบฟัน แจ้งความผิดปกติเกี่ยวกับการสบฟัน เช่นฟันซ้อนเก ฟันยื่น ฟันเกิน ฟันห่าง เป็นต้น ที่ต้องการแก้ไขให้ทันตแพทย์ทราบอย่างชัดเจน

  2.  ต้องแน่ใจว่าสามารถมารับการรักษาได้อย่างต่อเนื่อง เพราะการจัดฟันส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี มาพบคุณหมอทุกเดือน หากไม่พร้อมจะทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง ผลลัพธ์ที่ได้จะไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นจึงควรเริ่มจัดฟันเมื่อพร้อมเท่านั้น

  3.  สำหรับน้องๆที่อายุต่ำกว่า 18 ปี แนะนำให้คุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ปกครองมาพบทันตแพทย์จัดฟันด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ตกลงแผนการรักษา จะได้ทราบทางเลือก ข้อดีข้อเสียในการรักษา รวมถึงหากต้องมีการถอนฟัน หรือผ่าฟันคุด จำเป็นต้องได้รับการอนุญาติจากผู้ปกครอง

  4.  หลังจากตกลงจัดฟัน ทันตแพทย์จัดฟันจะพิมพ์ปาก ถ่ายรูปและถ่ายเอ็กซเรย์ เพื่อนำมาวิเคราะห์ลักษณะฟันและโครงกระดูกใบหน้าขากรรไกร เพื่อใช้ในการวางแผนการรักษา คุณหมอจะแจ้งค่าใช้จ่ายทั้งหมด และระยะเวลาที่ใช้ให้ทราบในขั้นตอนนี้ ในกรณีที่มีแผนการรักษามากกว่า 1 แผน คนไข้คือผู้เลือกว่าต้องการทำแผนใด โดยปรึกษาร่วมกับทันตแพทย์จัดฟัน และควรถามข้อสงสัยต่างๆให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจ

  5.  การเคลียร์ช่องปาก เช่น ถอนฟัน อุดฟันรักษาโรคเหงือก รากฟัน ฯลฯ ขั้นตอนนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งก่อนติดเครื่องมือจัดฟัน เพราะถ้าสุขภาพช่องปากไม่ดี การจัดฟันจะยิ่งทำให้เกิดผลเสีย ซึ่งในคนไข้แต่ละรายจะมีการเคลียร์ช่องปากที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในแต่ละเคส

ดูแลฟันหลังติดเครื่องมือจัดฟันอย่างไร

  1.  หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารแข็ง เหนียวและกรอบ เช่น เคี้ยวน้ำแข็ง ลูกอม ท้อฟฟี่ ปลาหมึก เป็นต้น เพราะจะทำให้เครื่องมือจัดฟันหลุดได้

  2.  การรับประทานผัก ผลไม้ ควรตัดแบ่งเป็นชิ้นพอดีคำ และควรเลือกรับประทานของอ่อนๆ

  3. ในระยะแรกของการจัดฟัน มักจะมีความรู้สึกไม่สบาย เจ็บฟัน และอาจมีแผลเกิดขึ้นในช่องปาก ซึ่งอาการจะค่อยๆดีขึ้นในสัปดาห์ที่ 2 การใช้ขี้ผึ้งจัดฟันปิดทับบริเวที่เเหลมคมจะช่อวยทุเลาอาการได้ และทำให้แผลหายเร็วขึ้น

  4. แปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร เพื่อลดการเกิดฟันผุ เหงือกอักเสบ

  5. ตรวจสุขภาพฟัน ขูดหินปูน เอกซเรย์เช็คซอกฟันผุ ทุก 6 เดือน ในคนไข้รายที่มีความเสี่ยงสูง แนะนำให้เคลือบฟลูออไรด์ร่วมด้วย เท่านั้น

รีเทนเนอร์จำเป็นแค่ไหน

หลังถอดเครื่องมือจัดฟันแล้ว ทันตแพทย์จะแนะนำให้ใส่เครื่องมือคงสภาพฟัน หรือ รีเทนเนอร์(Retainer) อย่างเคร่งครัดตลอดเวลาในช่วง 1 ปีแรก ตลอด 24 ชั่วโมง จะถอดออกได้แค่ 2 เวลา คือ ขณะรับประทานอาหารและแปรงฟันเท่านั้น และจะลดเวลาลงเหลือเฉพาะเวลากลางคืนในปีต่อๆมา ซึ่งจะช่วยรักษาให้ฟันคงสวยเป็นระเบียบตลอดไป